จำนวนการดูหน้าเว็บ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.
Header Ads

วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ประวัติ ปืนไรเฟิล M-16

0 comments



ในปี คศ. 1948 (พศ. 2491) กองทัพบกสหรัฐอเมริกาจัดตั้งสำนักงานวิจัยการปฏิบัติการ (Operation Research Office หรือ ORO) มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานของกองทัพ โครงการแรกของสำนักงานได้แก่วิจัยและพัฒนาเสื้อเกราะ สำนักงานได้ดำเนินการค้นหาข้อมูลจากทหารผ่านศึก พบว่าร้อยละ 87 ของกลุ่มผู้สำรวจประกอบด้วยทหารราบจำนวน 602 นาย แจ้งว่าร้อยละ 95 ของการปะทะยิงต่อสู้เกิดในระยะใกล้กว่า 300 หลา (274 เมตร) อีกหลายรายกล่าวว่าการปะทะส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ระยะไม่เกิน 100 หลา (91 เมตร)
นายมาแชล (S.L.A Marshall) นักค้นคว้าประวัติศาสตร์การทหาร พบว่าระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีทหารเพียง 4 ใน 10 ต่อสู้กับข้าศึก นายทหารนอกราชการยศพันตรี เดฟ กรอสแมน (Lieutenant Colonel Dave Grossman, Retired) ให้ข้อสรุปแม้ทหารที่ได้รับฝึกมาเป็นอย่างดี ก็ยังมีสัญชาติญาณเหมือนกับมนุษย์ทั่วๆไป นั่นก็คือมีจิตใจต่อต้านการทำร้ายผู้อื่น ทหารรบที่ได้รับบาดเจ็บหรือตายส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการยิงเล็งประณีต แต่จากการยิงฉับพลันหรือยิงสุ่ม 
หมายความว่า ไรเฟิลประจำกายที่ให้ประสิทธิผลสูงสุดและเหมาะสมกับพฤติกรรมของทหารทั่วไป ควรจะเป็นปืนที่ใช้กระสุนขนาดกลาง (เพิ่มอำนาจการยิง สามารถขนย้ายได้จำนวนมากกว่ากระสุนขนาดใหญ่) ทำให้สามารถลดมิติและน้ำหนักของปืน (เพิ่มความคล่องตัว) และมีคุณสมบัติยิงในระบบอัตโนมัติ (เพิ่มโอกาสกระสุนเข้าเป้าหมาย) 
คุณสมบัติปืนไรเฟิลกำหนดโดยสำนักงาน ORO
  1. 1.ใช้ซองกระสุนบรรจุได้ 20 นัด
  2. 2.น้ำหนักปืนและกระสุนต่ำกว่า 6 ปอนด์ (2.72 กก.)
  3. 3.สามารถยิงในระบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ
  4. 4.กระสุนสามารถยิงทะลุหมวกเหล็กมาตรฐาน เสื้อเกราะหรือแผ่นโลหะหนา 3.4 มม. ที่ระยะ 500 หลา (457 เมตร)
ณ ขณะนั้น ปืนประจำกายหลักของกองท้พสหรัฐฯได้แก่ ปืนไรเฟิลกาแรนด์ เอ็ม-1 (Garand M-1) น้ำหนักปืน 4.32 กก. ใช้กระสุนขนาด .30-06 (Cal. 30 M1906 Ball) บรรจุด้วยแหนบกระสุน 8 นัด ยิงในระบบกึ่งอัตโนมัติ เป็นปืนและกระสุนที่มีคุณสมบัติจำเพาะตัวขัดค้านกับข้อสรุปของการวิจัย

M1 Garand เป็นปืนประจำการหลักในกองทัพสหรัฐตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจนมาถึงสงครามเกาหลี
สืบเนื่องจากรายงานของสำนักงานฯ ระหว่างปี คศ. 1953-1957 (พศ. 2496-2500) กรมสรรพาวุธสหรัฐฯได้จัดตั้งโครงการซัลโว (Project Salvo) ในปี คศ. 1957 มอบหมายให้บริษัทผลิตอาวุธและกระสุนวินเชสเตอร์ (Wincester Repeating Arms) และบริษัทอาร์มาไลท์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทผลิตเครื่องยนต์และอากาศยานแฟร์ไชลด์ (ArmaLite Division of the Fairchild Engine and Airplane Corporation) พัฒนาและผลิตไรเฟิลและกระสุนความเร็วสูงขนาด .22 นิ้ว
ในปี คศ. 1956 (พศ. 2499) บริษัทแฟร์ไชลด์ โดยนายยูจีน สโตนเนอร์ (Eugene Stoner) ผู้ออกแบบและหัวหน้าโครงการ ได้นำปืน เออาร์-10 (AR-10) มาพัฒนาและปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับคุณสมบัติที่ระบุในรายงานของสำนักงาน ORO ไรเฟิลเออาร์-10 ใช้กระสุนขนาด 7.62 มม. (ตรงกับกระสุนพาณิชย์ .308 วินเชสเตอร์) เป็นปืนมีข้อมูลจำเพาะแตกต่างจากปืนประจำการรุ่นเดิมในกองทัพสหรัฐฯโดยสิ้นเชิง ยูจีนได้นำโครงสร้างและระบบปฏิบัติการที่โดดเด่นของไรเฟิลอื่นๆ นำมาผสมผสาน เช่น ระบบขัดกลอนของ ไรเฟิล เอ็ม-1941 จอห์นสัน, ครอบลำเลื่อนแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนบนและส่วนล่างมีบานพับอยู่ด้านหน้า ต้นแบบมาจากปืนเอฟเอ็น เอฟเอแอล ประเทศเบลเยี่ยม (FN-FAL ย่อมาจาก Fabrique Nationale - Fusil Automatique Léger แปลว่า Light Automatic Rifle ปืนเล็กยาวบรรจุเอง), ระบบปฏิบัติการด้วยก๊าสไร้ลูกสูบและก้านสูบ ก๊าสจากการเผาไหม้ของดินขับดันลูกเลื่อนโดยตรง กระโจมมือและพานท้ายทำด้วยพลาสติก โครงปืนเป็นอัลลูมิเนี่ยมผสม ทำให้ เออาร์-15 (AR-15) มีน้ำหนักเบา 6.39 ปอนด์ (2.89 กก.) การลดส่วนประกอบและใช้วัสดุสังเคราะห์ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มอัตราการผลิต

บน AR-10 ปืน Assault Rifle ขนาด 7.62X51 NATO จากการออกแบบของ Eugene Stoner เพื่อเข้าประกวดในโครงการจัดหาอาวุธในครั้งแรก แต่กองทัพเลือก M14 (ล่าง) ที่พัฒนาขึ้นมาจากพื้นฐานของ M1 Garand
ในขณะเดียวกัน บริษัทวินเชสเตอร์ได้รับมอบหมายให้พัฒนากระสุนโดยปรับปรุงจากกระสุนพาณิชย์ .222 เรมิงตัน เป็น 5.56x45 มม. (เส้นผ่าศูนย์กลางกระสุน 5.56 มม. ความยาวของปลอกกระสุน 45 มม.) น้ำหนักหัวกระสุน 55 เกรน ความเร็ว 3200 ฟุตต่อวินาที ต่อมาเข้าประจำการในรหัส 5.56 Ball M193 
ช่วงระยะเวลาที่เออาร์-15 อยู่ระหว่างการพัฒนา ความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของปืนเล็กยาวประจำการกองทัพสหรัฐอเมริกาถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยังยึดถือปรัชญาดั้งเดิม ปืนสงครามหลักควรเป็นไรเฟิลยิงระบบอัตโนมัติใช้กระสุนขนาด .30 นิ้ว มีอำนาจหยุดยั้ง (หากสามารถยิงเข้าเป้าหมาย) สูงกว่าปืนที่ใช้กระสุนเล็กความเร็วสูง เช่นปืน เอ็ม-14 ซึ่งใช้กระสุน 7.62x51 (.308 วินเชสเตอร์) อีกฝ่ายเห็นด้วยกับรายงานของสำนักงาน ORO และคุณสมบัติของเออาร์-15
แม้ในกองทัพอันแสนยิ่งใหญ่เยี่ยงสหรัฐฯ พฤติกรรมการขัดขวาง ขัดขา ก็มิได้ว่างเว้น ประกอบกับความผิดพลาดภายในแฟร์ไชลด์เอง ปืนที่ส่งเข้าทดสอบชุดแรกในปี คศ. 1958 (พศ. 2501) มีปัญหาความแม่นยำและความน่าเชื่อถือ เหตุการณ์วิกฤติถึงขนาดที่บริษัทแฟร์ไชลด์หลังจากได้ลงทุนค้นคว้าวิจัยมูลค่า 1.45 ล้านเหรียญ ในเดือนธันวาคม คศ. 1959 (พศ. 2502) ติดสินใจโยนผ้าขาว ขายโครงการให้กับบริษัทผลิตอาวุธปืนโคลท์ (Colt’s Manufacturing Company หรือ CMC) เป็นจำนวนเพียง 75,000 เหรียญ และรับค่าลิขสิทธิ์ร้อยละ 4.5 ของยอดขายจากโคลท์ จากนั้นไม่นานบริษัทแฟร์ไชลด์มีการปรับโครงสร้างองค์กร คุณยูจีนถือโอกาสลาออกจากบริษัทไปอยู่กับโคลท์
ปืนเออาร์-15 และซองกระสุนรุ่นแรกๆที่ผลิตโดยโคลท์เพื่อประจำกองกองทัพยังประทับชื่ออาร์มไลท์ ในขณะที่ปืนเออาร์-15 สำหรับตลาดพาณิชย์ (ระบบปฏิบัติการกึ่งอัตโนมัติ) ออกจำหน่ายภายใต้ชื่อโคลท์ เออาร์-15 มีระยะหวังผลกว่า 215 หลา (200 เมตร) ยิงได้ทั้งระบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ เริ่มแรกใช้ซองกระสุนบรรจุ 20 นัดภายหลังเปลี่ยนเป็นซองกระสุน 30 นัดให้เท่าเทียมกับปืนฝ่ายตรงข้ามค่ายม่านเหล็ก เอเค-47 
รายงานของกองทัพอากาศสหรัฐในปี คศ. 1961 (พศ. 2504) ยอมรับคุณสมบัติของเออาร์-15 และต่อมาอนุมัติจัดซื้อจำนวน 8,500 กระบอกเข้าประจำการหน่วยสารวัตรทหารอากาศ แทนปืนเอ็ม-1 คาร์บิน ใช้ชื่อเป็นทางการ ปืนไรเฟิลประจำการสหรัฐ, ขนาด 5.56 มม., M16 (United States Rifle, Caliber 5.56 mm., M16) ในปี คศ. 1964 (พศ. 2508) ปีเดียวกับที่เอ็ม16 เข้าประจำการกองทัพอากาศ กองทัพบกสั่งซื้อเออาร์-15 จุดประสงค์เพื่อทดสอบ ใช้ชื่อ XM16E1 ไรเฟิล M16 ประจำการกองทัพอากาศต่างกับ XM16E1 ตรงที่ปืนทดสอบกองทัพบกติดตั้งคันส่งลูกเลื่อน (Bolt Assist ตำราบางเล่มเรียกว่า Forward Assist) จุดประสงค์เพื่อดันลูกเลื่อนให้เข้าที่กรณีรังเพลิงสกปรก และแรงดันของสปริงสะท้อนถอยหลังไม่เพียงพอ ในขณะที่กองทัพอากาศเห็นว่าคันส่งฯจะเพิ่มกลไกและราคาอาวุธโดยไม่มีความจำเป็น


ในขณะเดียวกันบริษัทโคลท์ก็ได้นำเสนอเออาร์-15 ให้แก่สำนักงาน Advanced Research Project Agency (ARPA) จำนวน 1,000 กระบอกมอบให้แก่ทหารเวียตนามใต้เพื่อทดสอบใช้งานในสนามรบ ผลปรากฏเป็นรายงานในบทนำของบทความนี้ 

คศ. 1966 (พศ. 2509) เป็นเวลาที่ทหารสหรัฐฯในสงครามเวียตนามได้รับปืน M16 เข้าประจำการ รายงานประสิทธิภาพของ M16 จากเดิมสวยหรูมหัศจรรย์จนเสนาธิการบางคนตั้งข้อสังสัยต่อความแม่นยำของข้อมูล จากสวรรค์เป็นนรก กล่าวถึงปืนขัดลำระหว่างการสู้รบ พบทหารเสียชีวิตเนื่องจากปืนเอ็ม16 ขัดข้องยิงต่อสู้ไม่ได้ บางรายปืนอยู่ในสภาพถูกถอดเหมือนกับพยายามแก้ไขหรือทำความสะอาดอยู่ข้างกาย 

ลำกล้องและรังเพลิงปืนต้นแบบเออาร์-15 ผลิตโดยบริษัทแฟร์ไชลด์ เคลือบแข็งด้วยโครมจุดประสงค์เพื่อป้องกันการสึกกร่อนและทำให้รังเพลิงลื่นลดอาการปลอกกระสุนติดค้าง แต่ปืนที่ผลิตโดยโคลท์ซึ่งเข้าประจำการไม่มีการชุบโครม ประการที่สอง ดินขับของกระสุน 5.56 ระบุโดยโคลท์และผู้ออกแบบคือคุณยูจีนให้เป็นชนิด IMR (Improved Military Rifle) เป็นดินขับที่เผาไหม้แล้วลำกล้องและรังเพลิงสะอาดวาววับมีวัสดุตกค้างน้อยมาก ด้วยคุณสมบัติของดินขับผู้ผลิตนำเสนอเออาร์ให้กับกองทัพว่าเออาร์-15 เป็นปืนที่มีคุณสมบัติบำรุงรักษาต่ำ ไม่จำเป็นต้องนำเสนออุปกรณ์ทำความสะอาดหรือแม้กระทั่งวิธีการบำรุงรักษา 

แต่กรมสรรพวุธได้เปลี่ยนดินขับเป็นชนิด Ball ซึ่งมีคุณสมบัติต่างกับดินขับ IMR การเผาไหม้สกปรกมีเขม่าตกค้างในท่อก๊าสและรังเพลิง ทำให้ปืนขัดลำ และเนื่องจากดินขับชนิด Ball มีอัตราการเผาไหม้สูงกว่าดินขับ IMR ส่งผลให้อัตราการยิงของปืนในระบบอัตโนมัติสูงกว่าที่ออกแบบไว้ ผลคือปืนสึกหรอ ชำรุดเสียหายเร็วกว่าปกติ รวมไปถึงความแม่นยำลดถอยเพราะรีคอยล์และแรงสะบัดเงยที่เพิ่มขึ้น 

สภาผู้แทนราษฎรคอนเกรสได้แต่งตั้งกรรมาธิการตรวจสอบปัญหาของปืนเอ็ม16 ผลคือการเปลี่ยนแปลงต่อปืนและกระสุน และจัดโครงการฝึกวิธีการบำรุงรักษาและทำความสะอาดอาวุธ พร้อมจัดทำคู่มือการบำรุงรักษา ลำกล้องและรังเพลิงชุบโครมแข็ง ติดตั้งคันส่งลูกเลื่อนเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ปรับปรุงระบบปฏิบัติการเพื่อลดอัตราการยิง พานท้ายมีช่องบรรจุอุปกรณ์ทำความสะอาด ปรับปรุงส่วนผสมดินขับกระสุน M193 เพื่อลดวัสดุตกค้าง
ในปี คศ. 1967 (พศ. 2510) XM16E1 เข้าประจำการกองทัพบกสหรัฐอเมริกาในชื่อ ปืนไรเฟิลประจำการสหรัฐ, ขนาด 5.56 มม., M16A1 (United States Rifle, Caliber 5.56 mm., M16A1) กองทัพสหรัฐยังได้แต่งตั้งผู้ผลิตเพิ่มเติม ได้แก่ บริษัทผลิตอาวุธ เฮริงตัน แอนด์ ริชชาร์ดสัน (Harrington & Richardson) และส่วนการผลิตระบบส่งกำลังของบริษัทผลิตยานยนต์เยนเนอแรล มอเตอร์ (Hydramatic Division, General Motors)
ผลจากการเปลี่ยนแปลงทำให้ปืนเอ็ม-16 มีประสิทธิภาพตามที่คาดหมาย กลายเป็นปืนประจำการหลักทั้งสี่เหล่าของกองทัพสหรัฐอเมริกา และสัมพันธมิตรแห่งโลกเสรีและโลกเผด็จการที่อยู่ใต้อำนาจมะกันอีกกว่า 73 ประเทศ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์การเมืองผันแปร ศัตรูของโลกเสรีเปลี่ยนจากกลุ่มอักษะ ลัทธินาซี กลายมาเป็นโลกค่ายคอมมิวนิสต์ มีสหภาพโซเวียต (ชื่อสมัยนั้น) เป็นผู้นำ ฝ่ายประชาธิปไตยมีอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ร่วมกับประเทศในยุโรปตะวันตกจัดตั้งองค์การนาโต้ หรือ North Atlantic Treaty Organization (NATO) ในปีคศ. 1949 (พศ. 2492) ระยะแรก องค์กรนี้ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีใครให้ความสำคัญ แต่หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุด ประเทศสมาชิกชักเริ่มเห็นโลงศพ คราวนี้กระตือรือร้นจัดตั้งกองทัพร่วมชาติ ฝ่ายม่านเหล็กมีปฏิกิริยาตอบโต้โลกเสรีโดยจัดตั้งองค์กรมีชื่อเป็นทางการว่า สนธิสัญญามิตรภาพและความช่วยเหลือร่วมกัน Treaty of Friendship, Cooperation and Mutual Assistance หรือที่รู้จักกันในนามกลุ่มวอร์ซอร์ Warsaw Pact ในปี คศ. 1955 (พศ. 2498) 

หนึ่งในบทเรียนที่ได้รับจากสงครามโลกครั้งที่สองคือความหลากหลายของยุทธโธปกรณ์ โดยเฉพาะกระสุนปืนประจำกาย ในขณะที่กองทัพอเมริกาใช้ปืนเล็กยาวเอ็ม 1 กาแรนด์ใช้กระสุน .30 เอ็ม 1906 (.30-06 สปริงฟิลด์) และปืนพกกึ่งอัตโนมัติขนาด .45 เอซีพี สหราชอาณาจักรเพื่อนร่วมสงครามและสัมพันธมิตรใช้ปืนเอ็นฟิลด์ Enfield ขนาด .303 ปืนพกลูกโม่เอ็นฟิลด์ ใช้กระสุน .38/200 (กระสุนเส้นผ่าศูนย์กลาง .38 นิ้ว หัวกระสุนหนัก 200 เกรน)

ปืนกลมะกันใช้ทอมสัน และเอ็ม 3 มีชื่อเล่นปืนจารบี Grease gun กระสุนขนาด .45 เหมือนกับปืนพก อังกฤษใช้สเตน Sten ยิงด้วยกระสุน 9 มม. พาราเบิลลั่ม เวลาส่งกำลังบำรุงกันทีหัวจะระเบิด เจ็บแล้วต้องจำ ดังนั้นหนึ่งในข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกก็คือ ปืนไรเฟิล ปืนพกจะเป็นยี่ห้อใดใครผลิตไม่ใช่ประเด็น แต่ต้องใช้กระสุนเหมือนกัน นโยบายนี้สมาชิกนาโต้เห็นพ้องด้วยเป็นเอกฉันท์ แต่พอมาถึงการคัดเลือกกระสุนลุงแซมแกเริ่มออกลาย ขณะนั้นเสนาธิการอเมริกันยึดถือปรัชญาการรบเดิมยังคงอำนาจ ปืนประจำการหลักของกองทัพสหรัฐคือ เอ็ม14 ก็คือปืนเอ็ม1 การ์แรนด์ แต่ปรับปรุงใหม่ให้สามารถยิงระบบอัตโนมัติ ใช้กระสุน 7.62x51 หรือ .308 วินเชสเตอร์ กล่าวคือนำกระสุน .30-06 ที่ใช้กับกาแรนด์ลดขนาดปลอกกระสุนให้สั้นลง 

ขณะนั้นอังกฤษได้ลงทุนพัฒนาปืนไรเฟิลจู่โจมใช้กระสุนขนาด .280 นิ้ว มะกันบอกว่ากระสุนที่ว่ามันเล็กเกิน อำนาจหยุดยั้งไม่เพียงพอ ไม่เหมาะสมที่จะเป็นปืนไรเฟิลหลักขององค์กรอภิมหาอลังการเยี่ยงนาโต้ คู่อาฆาตหมีขาวประเทศรัสเซียยังใช้ปืนเอเค 47 ใช้กระสุน 7.62x39 เลย ปืนนาโต้ต้องมีคุณสมบัติเท่าเทียมกัน เยี่ยง 7.62x51 ทำให้โครงการอีเอ็ม 1 ซึ่งเป็นปืนต้นแบบ และ อีเอ็ม 2 เป็นปืนที่จะนำเข้าประจำการเป็นอันล้มเลิก อังกฤษก็เลยมาใช้ปืนเอฟเอ็น เอฟเอแอล FN-FAL ใช้กระสุน 7.62x51 แทน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น